วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มารู้จักเกลือกันเถอะ !!!




เกลือ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า salt นั้น ในความหมายทางวิชาเคมี หมายถึงสารประกอบของโลหะกับอนุมูลกรด เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างกรดกับด่าง เกลือที่มีใช้กันมีหลายชนิด ดังนี้

1. เกลือแกง (NaCl) คือเกลือที่ใช้ประกอบอาหาร ได้จาก 2 แหล่งคือ

- ได้จากน้ำทะเล เรียกว่า เกลือสมุทร คำว่า Samudra ในภาษาสันสกฤตแปลว่า ทะเลใหญ่

- ได้จากใต้ดิน เรียกว่า เกลือสินเธาว์ มาจากภาษาสันสกฤตว่า Sindhava ฝรั่งเรียกว่า Rock salt

2. เกลือจืด (CaSO4.2H2O) หรือ ยิปซัม หรือ หินเต้าหู้ เป็นเกลือที่ใช้ในการปั้นปูน อุตสาหกรรมก่อสร้าง และผลิตเต้าหู้

3. เกลือด่างคลี ในตำราบางเล่มกล่าวว่าเป็นเกลือที่เกิดจากการผสมของวัตถุ 3 ชนิดอันได้แก่ เกลือสมุทร 1 เกลือสินเธาว์ 1 และ ด่างที่ได้จากเถ้าของการเผาไม้บางชนิด เช่น เถาไม้พันธุ์งู (เรียกว่าด่างพญานาค) แต่เมื่อพิจารณาจากรากศัพท์แล้ว เกลือ ด่างคลี น่าจะเป็นเกลือของธาตุ คาลิอุม (Kalium) หรือ คาลิ (Kali) หรือก็คือเกลือโพแทสเซียม (K) มากกว่า

4. เกลือฟอง คือเกลือจืดที่เกิดในดิน

5. เกลือสะตุ เป็นเกลือแกงที่นำมาคั่วจนความชื้นและน้ำระเหยออกไป ทำให้เสียรูปผลึกของ NaCl

6. ดีเกลือ มีสองชนิดคือ

- ดีเกลือฝรั่ง มีสูตรทางเคมีว่า MgSO4.7H2O

- ดีเกลือ มีสูตรทางเคมีว่า Na2SO4

7. เกลือเยาวกะสา (K2CO3) ฝรั่งเรียกว่า Pearl a
sh หรือ Salt of Tatar เกลือชนิดนี้ได้ชื่อมาจากภาษาสันสกฤตว่า Yavakshara เมื่อเขียนเป็นไทยจึงควรเขียนว่า เยาวกะษา

8. เกลือสุนจะละ (KNO3) ฝรั่งเรียกว่า Saltpetre หรือ Nitre เกลือชนิดนี้ สมัยก่อนแขกชาวอิเดียนำเข้ามาขายในประเทศไทย ชื่อนี้จึงควรเขียนว่า สุรจะละ ซึ่งจะพ้องกับคำว่า Surakchaaram (ภาษาสันสกฤต) หรือ Surcharam (ภาษาเตลูกู) หรือ Surakhara (ภาษาคานารีส)

ต่อมา เกลือชนิดนี้ได้หยุดจำหน่ายในประเทศไทย กอปรกับมีคำว่า (ดิน) ประสิว เกิดขึ้น ซึ่งเป็นชื่อของเกลือเม็ดเล็กๆที่เกิดจากการต้มขี้ค้างคาวหรือขี้นกอีแอ่น มาใช้แทน ดังนั้น ในทางเคมีทั้งดินประสิวขาวและเกลือสุรจะละ จึงเป็นของอย่างเดียวกัน

2 ความคิดเห็น: