วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มาตรวจสุขภาพการนอนกันเถอะ



การนอนหลับสนิทและเต็มที่นั้น เป็นสิ่งที่วิเศษสุดอย่างหนึ่งในการฟื้นฟู และซ่อมแซมร่างกายของมนุษย์ แต่ถ้าคุณหรือคนรอบข้างไม่สามารถนอนหลับเช่นนั้นได้ เรามีเครื่องมือในการตรวจค้นหาสาเหตุและแก้ไขได้

การตรวจสุขภาพการนอนหลับ หรือที่เรียกว่า Sleep test เป็นการตรวจวิเคราะห์การทำงานระบบต่างๆ ของร่างกายขณะนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และกล้ามเนื้อ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับ

ประโยชน์ของการตรวจนี้ เพื่อใช้วินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น การกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆ และพฤติกรรมที่ผิดปกติขณะหลับ รวมถึงช่วยในการวินิจฉัยโรคความผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการนอนหลับ ตลอดจนใช้พิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจและติดตามผลการรักษา

สำหรับผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ Sleep test ได้แก่ ผู้ที่ภาวะนอนกรนดังผิดปกติ หรือมีอาการง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ได้นอนอย่างเพียงพอแล้ว ผู้ที่มีอาการหายใจลำบาก และสงสัยว่า จะมีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนผิดปกติอื่นๆ เช่น นอนแขนขากระตุก นอนกัดฟัน หรือนอนละเมอ ฝันร้าย สะดุ้งตื่นเป็นประจำ เป็นต้น โดยผู้รับการตรวจควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคการนอนหลับโดยตรง หรือแพทย์หู คอ จมูก อายุรแพทย์ หรือกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อสอบถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนและหลังการตรวจ ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนและการตัดสินใจเลือกในการรักษา

การตรวจ sleep test สำหรับภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ แบ่งได้เป็น 4 ระดับดังนี้

ระดับที่ 1 การตรวจสุขภาพการนอนแบบสมบูรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดคืนเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ลูกตา ใต้คาง และขา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด การตรวจวัดลมหายใจเป็นอย่างน้อย โดยอาจทำภายในห้องตรวจเฉพาะของสถานพยาบาลหรือนอกสถานที่

ระดับที่ 2 การตรวจสุขภาพการนอนแบบสมบูรณ์ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดทั้งคืน อาจตรวจในห้องนอนตามบ้าน ระดับนี้มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับการตรวจระดับ 1 แต่ค่าใช้จ่ายถูกกว่าจึงเหมาะสำหรับผู้ที่เคลื่อนไหวและเดินทางไม่สะดวก หรือผู้ที่มีอาการมาก ต้องการรักษาอย่างเร่งด่วน

ส่วนระดับที่ 3 และ 4 เป็นการตรวจสุขภาพเพียงบางรายการ ซึ่งอาจมีผลคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัย จึงมักไม่ได้รับความนิยม

การตรวจจะเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น.ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของผู้ตรวจแต่ละราย ก่อนเริ่มการตรวจ เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการนอน รวมทั้งยารักษาโรคประจำตัว หรืออาจให้กรอกแบบสอบถาม และเอกสารการยินยอมของผู้รับการตรวจ หลังจากนั้นจะอธิบายลักษณะเกี่ยวกับอุปกรณ์ และการปฏิบัติตัวต่างๆ ระหว่างการตรวจ โดยผู้รับการตรวจควรสวมเสื้อผ้าชุดนอนหลวมๆ ทำจิตใจให้สบาย และควรหลีกเลี่ยงการดื่ม กาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนผสม หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก

ขอบคุณบทความดีดีจาก สสส.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น