วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการจำ..ฝึกได้ง่ายๆ


รู้ไหมว่า...วัน ๆ หนึ่ง เราต้องใช้สมองจดจำอะไรบ้าง...
จำศัพท์ภาษาอังกฤษ จำ tense ตารางธาตุ ประวัติศาสตร์ อักษรสูง กลาง ต่ำ ชื่อเพื่อน หน้าเพื่อน จำเนื้อเพลง วันเกิดพ่อแม่พี่น้อง เบอร์โทรศัพท์ และจำ จำ จำ อีกหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะจำอะไรที่เป็นวิชาการ มันช่างจำได้ยากเย็นเต็มที ถึงแม้จะมีคำกล่าวว่า "การเรียนด้วยความเข้าใจนั้นดีที่สุด" แต่จะมีใครกล้าปฏิเสธมั๊ยล่ะว่าเราเรียนได้โดยไม่ต้องใช้การท่องจำ...
เทคนิคแรก โยงสิ่งที่ต้องจำไปหาสิ่งที่จำง่ายและติดตากว่า
เช่น ภาษาอังกฤษคำว่า "sue" แปลว่าฟ้องร้อง การออกเสียงคำว่า "sue" คล้ายกับคำว่า "สู้" ของไทย แต่การสู้ในที่นี้ เราต้องสู้กันในศาล เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าฟ้องร้องนั่นเอง (สำหรับการท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ ขอแนะนำเพิ่มเติมว่าควรจะท่องกลุ่มคำที่มีความหมายเหมือนกัน จะได้จำไปคราวเดียว ไม่ต้องท่องหลายรอบ เช่น purpose-goal-aim-intention-objective)
เทคนิคที่สอง ใส่ทำนองร้องเป็นเพลง
ถ้าอยากจะจำอะไรสักอย่างหนึ่งยาว ๆ ลองใส่ทำนองเข้าไปแล้วลองร้องออกมา นอกจากจะสนุกสนานล้ว อาจจะจำได้ดีขึ้นด้วย แต่จะไพเราะเสนาะหูขนาดไหน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัว
เทคนิคที่สาม วิธีจำโดยสังเกตตัวอักษรที่เหมือนกัน
ใช้ได้ผลดีกับวิชาภาษาไทย เช่น คำนวน ต้องเขียนว่า คำนวณ ใช้ "ณ" เหมือนคำว่า คณิตศาสตร์ หรือ เข้าฌาน สะกดด้วย "น" เพราะเป็นการนั่งแบบ "นิ่ง ๆ"
เทคนิคที่สี่ ประโยคเด็ดช่วยจำ
แต่งประโยคหรือเรียบเรียงเรื่องที่ต้องจำเป็นข้อความสั้น ๆ และถ้าสามารถ อาจแต่งให้คล้องจองกัน จะช่วยให้จำได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น ประโยคยอดฮิตที่ว่า "ไก่ จิก เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง" ทำให้พวกเราจำอักษรกลางได้อย่างง่ายดาย
เทคนิคที่ห้า จำเป็นรูปภาพ
สมองคนเราจำรูปได้ดีกว่าข้อความ ดังนั้นพวกสูตรคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ลองเขียนเป็นตัวใหญ่ ๆ ทำให้โดดเด่นมีสีสัน แปะไว้ข้างฝาบ้าน มองทุกวัน หลาย ๆวัน เราจะจำภาพหรือสูตรนั้นได้โดยอัตโนมัติ ที่สำคัญอย่าลืมมองเจ้าสิ่งที่แปะบ่อย ๆ ด้วย
เทคนิคการจำก็เป็นความสามารถเฉพาะตัวเหมือนกัน ต้องมีการฝึกฝนและพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์ การจำเรื่องยาก ๆ อาจต้องใช้หลายเทคนิคหรือเทคนิคขั้นสูงต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : วารสารกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษษ ฉบับเดือนมากราคม - มีนาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น